MuayChiya - ArwuutThai

...................................................................................
มวยไชยา - อาวุธไทย อีกลมหายใจ "ไท" ที่ยังคงอยู่
...................................................................................
m u a y c h a i y a - a r t . b l o g s p o t . c o m
...................................................................................

วันเสาร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2552

ตราสัญลักษณ์

จาก “ชมรม อนุรักษ์ พาหุยุทธ์ ไชยารัตน์ และ อาวุธไทย ตำหรับ พิชัยยุทธ์”
ถึง “มูลนิธิ มวยไทยไชยา” ได้มีการเปลี่ยนแปลง รูปแบบตราสัญลักษณ์ชมรมฯ,สโมสรฯ, และ มูลนิธิ, มาหลายครั้ง ทางคณะผู้จัดทำ ได้รวบรวมนำเสนอ ความเป็นมา ความหมาย ปรัชญา และรูปแบบ ของตราสัญลักษณ์ ไว้ ณ ที่นี้



พ.ศ.๒๕๒๕ ... ชมรม อนุรักษ์ พาหุยุทธ์ ไชยารัตน์

ออกแบบโดย ... คุณอมรกฤต ประมวญ ,คุณนพคุณ บำรุงพงษ์ และ คุณขวัญชาติ สุดานิจ

............................................

พ.ศ.๒๕๒๖ ... ชมรม อนุรักษ์ พาหุยุทธ์ ไชยารัตน์

ออกแบบโดย ... คุณอมรกฤต ประมวญ และ คุณขวัญชาติ สุดานิจ

.............................................

พ.ศ.๒๕๒๗ ... ชมรม อนุรักษ์ พาหุยุทธ์ ไชยารัตน์ และ อาวุธไทย ตำหรับ พิชัยยุทธ์

ออกแบบโดย ... คณอมรกฤต ประมวญ และ คุณขวัญชาติ สุดานิจ

............................................

พ.ศ.๒๕๒๘ ... ชมรม พาหุยุทธ์ ไชยารัตน์ มวยไทย ตำรับพิชัยยุทธ์

ออกแบบโดย ... คุณกฤษดากร สดประเสริฐ

.............................................

พ.ศ.๒๕๓๐ ... สโมสร พาหุยุทธ์ และอาวุธไทย (ค่ายไชยารัตน์)

ออกแบบโดย ... คุณกฤษดากร สดประเสริฐ

.............................................

พ.ศ.๒๕๔๒ ... ชมรม อนุรักษ์ พาหุยุทธ์ มวยไทยไชยา

ออกแบบโดย ... คุณอมรกฤต ประมวญ และ คุณณัฐวุฒิ เครือสุวรรณ

..............................................

พ.ศ.๒๕๔๖...มูลนิธิ มวยไทยไชยา

ออกแบบโดย ... คุณอมรกฤต ประมวญ และ คุณณัฐวุฒิ เครือสุวรรณ

...............................................

พ.ศ.๒๕๔๘...ศูนย์ศึกษา สยามยุทธ์ “ บ้านครูแปรง ” ...

ออกแบบโดย ... คุณณปภพ ประมวญ และ คุณศักย์ภูมิ จูฑะพงศ์ธรรม

.................................................

วันพฤหัสบดีที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2552

หมัดคาดเชือก โรยแก้ว,ชุบกาว จริงหรือ ?



แรก ๆ ที่ได้ยินคำถาม เช่นนี้ ข้าพเจ้า ก็รู้สึกประหลาดใจ ด้วยความที่ได้ยิน ได้ฟังเรื่องราวทำนองนี้มานานเท่าอายุ อีกทั้งคนรุ่นพ่อ รุ่นปู่ เขาก็ได้ยินต่อ ๆ กันมา
ถึงเรื่อง มวยโบราณจะมีการนำแก้วมาโรยไว้ที่หมัดคาดเชือก ในการชกต่อยกัน เพื่อเพิ่มความเฉียบคมให้กับหมัด แล้วเหตุใดจึงมีความสงสัยในเรื่องนี้ไปได้เล่า ?

แต่...ก่อนที่ท่านผู้อ่านจะยอมรับหรือปฏิเสธ เรื่องที่ข้าพเจ้า ได้เกริ่นหัวข้อไว้เป็นปริศนานั้น ใคร่ขอนำท่านมาพิจารณา เนื้อหาโดยแท้ของ การคาดเชือก พันหมัด
ก่อน “ตีมวย” ขอเหล่า ฌัลละ (นักมวย) ท่านมีเหตุผลกลวิธีสร้างสรรค์ เชือกคาดหมัด มาแต่เดิมอย่างไร ดังข้าพเจ้าจะใคร่ขอเฉลยไว้ ดังนี้

๑. เชือกที่นำมาใช้ คือ ด้ายดิบ ที่มีความอ่อนนุ่ม จับเป็น ไจ รวบให้ได้ขนาดโตเท่าดินสอดำ (ปรมาจารย์เขตร์ ท่านกล่าวไว้) ปั่นให้ขึ้นรูปเชือก... ส่วนวิธีคาดเชือก
นั้นแบ่งได้ตามความนิยมของแต่ละถิ่น แต่ละภาค เช่น มวยภาคอีสาน จะพันเชือกสูงเกือบถึงศอก มวยภาคเหนือ ,มวยภาคกลาง มักพันเชือกสูงสักครึ่งแขน และมวยภาคใต้
จะพันเชือกแค่คลุมข้อมือ หรือสูงเลยข้อมือเพียงเล็กน้อย แต่ใครจะพันหมัด ถักหมัด ด้วยวิธีลีลาอย่างไร ไม่มีกฎตายตัว เป็นเรื่องเฉพาะบุคคลเป็นหลัก

๒. เชือกที่เตรียมไว้ ท่านไม่กำหนดความยาวไว้ แล้วแต่ความถนัดของแต่ละคน เริ่มด้วย คาดพันเชือกบริเวณข้อมือก่อน แล้วพันไล่ขึ้นไปคลุมถึง นิ้วก้อย
จากนั้นจึงพันเหนี่ยว รั้งเข้าที่ ร่องนิ้ว คาดกลับลงมาที่ข้อมือ เพื่อกระชับกระดูกข้อมือ ใหญ่น้อย กันให้ไม่เคล็ดหรือ ซ้น หัก เอาง่าย ๆ เมื่อชกต่อยกับคู่ปรปักษ์

๓. กติกากำหนดให้ใช้เชือกล้วน ๆ ในการพัน ไม่อนุญาตให้ใช้วัสดุอื่นใด ( ยกเว้นเพียง ขวานฟ้า เครื่องรางชิ้นเล็กที่สอดไว้ใน ซองมือ ระหว่างพันมือเท่านั้น )
ฌัลละผู้ชาญฉลาด ท่านได้นำเชือกที่เหลือจากการคาดหมัด และถัก แข้งสิงห์ มาบิดเป็นเกลียว เกิดปุ่มปมเชือก แล้ววางไว้บริเวณหลังมือ เรียก ก้นหอย และจะสักตรึงก้นหอยนั้นไว้ด้วย หางเชือก เพื่อใช้เชือกที่ได้ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ด้วยความอ่อนนุ่นของเชือกด้ายดิบที่พันรัดไว้พอเหมาะ และความแข็งคมของตัวหอยที่ขดเกลียวจนได้ที่ ประกอบกับการพ่นน้ำใส่ พอชุ่ม เมื่อถักหมัดเสร็จแล้วนี่เอง ที่ทำให้เชือกเส้นหนึ่ง มีคุณสมบัติทั้งคุ้มกันและทำลายในตัวเอง ก็ด้วยภูมิปัญญาของ บรรพชนชาวสยาม โดยแท้


๔. เชือกคาดหมัด ถือเอาเป็น เครื่องราง ของขลังอย่างหนึ่ง ที่ต้องเก็บรักษาเป็นอย่างดี เมื่อ “ตีมวย” เสร็จในคราวหนึ่ง ๆ ท่านก็จะนำ เชือก ออกผึ่งแดดอ่อน
ลมเย็นจนแห้งดี จึงเก็บพันเป็นก้อน จัดวางไว้ในที่อันควร โดยไม่มีการซัก,ล้าง เชือกคาดนี้ ด้วยหมายเอา คราบเลือด เศษเนื้อ ของศัตรู คู่ปรปักษ์ ที่ติดมาจากการรณยุทธ์
เมื่อนำมาตากแห้งแข็งกรังจับตัวดีแล้ว ก็จะทำให้เชือกแข็งคม เป็นอาวุธที่ไม่ผิดกติกาในการคาดเชือก แลนำมาใช้ เมื่อเข้าโรมรันพันตูในศึกครั้งต่อไปได้อีก

๕. ก่อนการ “ตีมวย” ทุกครั้ง กรรมการมวย จะให้นักมวยเอาหมัดคาดเชือกนั้น ถูที่ใบหน้าของตน เพี่อพิสูจน์ว่าไม่ได้มีสิ่งอื่นใดซุกซ่อนอยู่ ในการคาดเชือก
คราวนั้น ๆ และยังเป็นการพิสูจน์ความเป็นลูกผู้ชาย ที่มีดี มิใช่คิดจะชิงดี เอาเปรียบผู้อื่น อีกทั้งยุคนั้นยังมี คาถาอาคม เครื่องราง เครื่องคาด ของขลัง ว่าน ยันต์ และอาพัด ต่าง ๆ ที่จะนำมาใช้ได้ โดยไม่ผิดกติกาใด ๆ อีกมาก อันเป็นที่นิยม เป็นเครื่องหมายแห่งความเป็นชายชาตินักรบ อยู่ครบครันแล้ว

๖. ฌัลละบางท่าน นั้นก็ไม่นิยมที่จะ คาดเชือกพันหมัด เมื่อขึ้นชก ด้วยเห็นว่าไม่ถนัด หรือหมัดเปล่า ๆ นั้นสามารถเรียก เลือดสด ๆ ได้ดีกว่า หมัดคาดเชือก ข้างฝ่ายกรรมการมวย ก็ไม่ได้ กำหนดเป็นกฎแต่ประการใด เป็นความสมัครยอมพร้อมใจของคู่ชก ตกลงกันเองเสียมากกว่า

เมื่อท่านผู้อ่านทราบ ถึงระเบียบวิธี คาดเชือก เป็นลำดับขั้นที่ได้กล่าวมาแล้ว รวมถึงหลายคนสงสัยใคร่รู้ กระทู้ความนี้คงตอบคำถาม คาใจ ท่านได้บ้าง แต่ผู้เขียนใคร่ขอ ตอกสลัก ปักลิ่ม ลงดานให้แน่นหนาอีกชั้นหนึ่ง ให้ท่านเชื่อด้วยข้อมูลชิ้นเล็ก ๆ ว่า แม้แต่ ครูผู้เฒ่าเก่าหลัง ท่านก็ยังกล่าวด้วยความเป็นห่วงเป็นไย ในความเชื่อ ความคิดที่บิดเบือนไป เกี่ยวกับเรื่อง คาดเชือกถักหมัด นี้ด้วยเช่นกัน ครั้งหนึ่ง ปรมาจารย์เขตร์ ศรียาภัย ท่านได้เขียนเรื่อง ปริทัศน์มวยไทย ลงไว้ในนิตยสาร ฟ้าเมืองไทย เมื่อประมาณ ปี พ.ศ. ๒๕๑ ๔ – ๒๕๑๗ ได้กล่าวถึง หลักฐานบ้างอย่าง ที่พอจะให้อนุชนรุ่นหลังได้สืบค้น ด้นหาเคล้าลาง ในเรื่องนี้อยู่บ้าง ดังนี้

เมื่อคราวที่ ปรมาจารย์เขตร์ (๗๒ ปี) ท่านได้มีโอกาสเดินทางไปที่ จังหวัดนครปฐม เพื่อเข้าพบปะพูดคุยกับ ครูตู้ ไทยประเสริฐ (๗๘ ปี) ซึ่งท่านเป็นน้องชาย ของ แดง ไทยประเสริฐ (มวยโคราช) ผู้มียศเป็นถึง ท่านหมื่นชะงัดเชิงชก ( ร.๕ ) ครูตู้นั้นท่านเป็นนักมวยใน ยุคสนามมวยสวนกุหลาบ (ร.๖ ) ในการชกมวยคู่ประวัติศาสตร์ ที่ นายยัง หาญทะเล ชกกับ จี๊ฉ่าง นั้น ครูตู้ ท่านชกกับ นักมวยจีนนาม ไงใต้ฉิน เป็นคู่ถัดมา ผลท่านชนะด้วยการเตะจนคู่ต่อสู้ท่านถึงหมอบกระแต


ครั้น ท่านปรมาจารย์เขตร์ ถามถึงปัญหาที่มีผู้ลือกันหนาหูว่า เมื่อยุคนั้นได้มีการใช้ แก้วโรยเชือกคาดหมัด เช่นเดียวกับ ป่านคม (เชือกว่าว ที่เอาผงแก้วโรยให้คม)เป็นความจริงหรือไม่ ครูตู้ ไทยประเสริฐ ท่านยืนยันอย่างหนักแน่นว่า

“ ไม่เคยพบเห็นเรื่องอย่างนี้เลย ตลอดเวลาอันยาวนานที่ตนใช้ชีวิตเป็นนักมวย และเป็นครูมวยมา ”


ซึ่งความข้อนี้ก็เป็นเรื่องที่ ครูเขตร์ ท่านปรารภไว้เสมอ ๆ ด้วยความเป็นห่วงว่า ความเข้าใจผิดในเรื่องนี้ จะก่อความเสียหาย และส่งผลให้ภาพพจน์ของ มวยโบราณคาดเชือก ถูกมองว่า โหดร้าย ป่าเถื่อน และท่านก็ได้ อบรมสั่งสอนลูกศิษย์ลูกหาของท่านในเรื่องนี้มาตลอด ( ฟ้าเมือไทย ฉบับ ๒๓๘ หน้า ๑๐ )

นับได้ว่า บันทึกบทนี้ ทำให้ภาพประวัติศาสตร์วงการมวยไทย ถูกมองด้วยสายตาที่เป็นจริงอีกครั้ง ด้วยเหตุสำคัญว่า ครูตู้ ท่านเป็นมวยโคราช (ภาคอีสาน) มีพี่ชายเป็นถึง หมื่นชะงัดเชิงชก และ ปรมาจารย์เขตร์ ท่านเป็นมวยไชยา (ภาคใต้) และเป็นศิษย์ อาจารย์ กิมเส็ง (สุนทร ทวีสิทธิ์) มวยพระนคร (ภาคกลาง) ครูมวยผู้มีชื่อเสียง
โด่งดังแห่งโรงเรียนพละศึกษากลาง ( ร.๖)

ประเด็นอันสำคัญคือ ครูตู้ , ครูเขตร์ ท่านทั้งสองเป็นคนในวงการมวย คลุกคลีใกล้ชิดอย่างผู้รู้จริง มีชีวิตอยู่ในยุครุ่งโรจน์ของมวยคาดเชือก จนถึงมวยไทยยุคปัจจุบัน จากรัชกาลที่ ๕ – รัชกาลที่ ๙ (ครูเขตร์ ท่านยังได้รับการยกย่องให้เป็น “ปรมาจารย์มวย” ) เท่ากับว่า ความรู้ในเรื่องมวยของท่านทั้งสองครอบคลุม สามในสี่ภาคของประเทศ และตลอดระยะเวลาร้อยกว่าปี ที่ผ่านมาท่านทั้งสองยืนยันตรงกันว่า ไม่เคยพบเห็นการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดเลย กับการคาดเชือก ตลอดช่วงชีวิตของท่าน

ถึงตรงนี้อาจมี ท่านผู้รู้บางท่าน แย้งขึ้นว่า การโรยแก้ว คลุกทราย แม้จะไม่มีใน การชกมวยคาดเชือก หากแต่ในยามศึกสงคราม หรือการชกต่อยของชาวบ้าน อาจจะมีการทำเช่นนั้นก็เป็นได้ ข้าพเจ้าใคร่ขอให้ท่านผู้มีภูมิปัญญา ทัศนาหาเหตุผลด้วย สิ่งที่มีอยู่เถิด


ประการแรกสุด ต้องมีเชือกคาดหมัด ซึ่งข้อนี้ไม่กังขา ด้วย ครูทอง ( ศิษย์ปรมาจารย์เขตร์ ศรียาภัย ) ครูของข้าพเจ้า ได้อบรมสั่งสอนศิษย์ เรื่องจัดเตรียมจัดหาเชือกด้ายดิบ รวมถึงสอนวิธีคาดเชือกถักหมัด ให้รู้มาบ้าง และ ครูมวยหรือท่านผู้รู้หลายท่านก็คาดเชือกกันได้

ประการต่อมา แก้ว ซึ่งแก้วนั้นจะมีมาแต่ยุคสมัยใดในสยามไม่ปรากฏ แต่ในสมัยอยุธยา แก้วน่าก็เป็นของมีค่ามีราคาหลายอัฐอยู่ มีใช้มีหาแต่ในรั้วในวังเป็นหลัก ชาวบ้านร้านตลาด คงยากที่จะหา แก้ว มาทุบเล่นเป็นแน่ เอาเป็นว่าถ้าเกิดมี แก้ว หรือ เปลือกหอย, กระเบื้องดินเผา ที่หาง่ายกว่าและมีในประเทศ ( บ้างว่าใช้ ทราย การคลุกด้วยทรายนั้นดูจะไม่ดีนัก เพราะแม้กาวจะจับทราย (นึกภาพกระดาษทราย ) แต่หากมีการต่อสู้ ทรายคงกระเซ็นเข้าหูเข้าตาทั้งสองผ่าย ถึงจะมีอาคมดี วิชาเหนียว ผิวกายฟันแทงไม่เข้า แต่ทวารทั้งแปด โบราณว่ายากที่จะป้องกัน เมื่อทรายเข้าตาเสียแล้ว จะชกต่อยกันได้อย่างไร คงต้อง “เปิดมือ” ไปล้างหน้าล้างตา ให้เสียเวลา เสียอรรถรส ท่านผู้ชมเป็นแน่ วิธีนี้ดูจะไม่เหมาะนัก)

ประการสำคัญ ต้องมีวัสดุที่ใช้ติด และกาวที่ดีที่สุดในยุคนั้นคงเป็น ชัน (ยางไม้สำหรับยาเรือ) ชันสน (ได้จากการกลั่นยางสน ) หรือไม่ก็ รัก (ยางพิษที่ได้จากไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ เรียก น้ำรัก ) คุณลักษณะของ ชัน และ รัก เหล่านี้ ท่านผู้คุ้นเคยกล่าวว่าใช้เวลาเป็นหลายวันหรือเป็นอาทิตย์ จึงจะแห้งสนิทดี เอาละเป็นอันว่าได้กาวแล้ว คือ ชัน และ รัก ครั่ง (ได้จาก เพลี้ยหอย แมลงชนิดหนึ่งที่ดูดกินน้ำเลี้ยงจากพืช และผลิตสารออกมาเรียก ขี้ครั่ง ) ครั่งก็ยังใช้ไม่ได้ ด้วยเหตุที่ เมื่อแห้งจะแข็งเปราะ แตกหักง่าย ยางไม้ นั้นคงเหนียวไม่พอกับการใช้ งานนี้จึงตกไป ( คงต้องตัดประเภทเหนียวแห้งเร็ว อย่าง กาวตราช้าง กาวยูฮู ที่เป็นเทคโนโลยี่ปัจจุบัน)

ประการสุดท้าย ขั้นตอนประกอบสิ่งที่มีอยู่แล้ว ก่อนอื่นต้อง คาดเชือกพันหมัด แต่ไม่ต้องขดก้นหอย เว้นพื้นที่บนหลังมือไว้ นำชันหรือรัก ทาลงที่หลังมือ นำ แก้ว เปลือกหอย เศษกระเบื้อง ที่ทุบละเอียด หรือจะทุบพอแตก ถ้าทุบละเอียดแล้วเอาหลังมือลงคลุก ก็นั่งรอให้แห้งสักวันครึ่ง ถ้าทุบพอแตก จะจับที่ละอัน เสียบลง
กาวบนหลังมือ ยกคมขึ้นแบบหนาม หรือจะวางซ้อน ๆ แบบเกล็ดปลา แล้วก็นั่งรอกาวแห้งสักวันครึ่ง จะยังไงก็คงไม่ดีแน่ ด้วยคมแก้วย่อมมีมากกว่า สองมุม คมอีกด้านก็คงไม่พ้นหันมาทิ่มมือตัวเองเป็นแน่ ยิ่งเคยได้ยินมาว่า เอามือลงชุบยางไม้ หรือน้ำข้าวทั้งสองมือเลย ก็ยิ่งแคลงใจ คาดเชือกแบบไชยายังพอทน แต่คาดแบบโคราช คงจะน่าดู ครูทองท่านกล่าวติดตลกว่า “ กว่าจะรอให้แห้ง ใช้เวลานานแค่ไหน แล้วจะกินข้าว ล้างก้นกันอย่างไร มือจะไม่เหมือน ตีนเป็ด หรอกหรือ ”


กลโกงในการชกต่อยมวยคาดเชือก ที่พอมีบันทึกไว้... ก็เพียงว่า เมื่อคาดเชือกพันหมัดแล้ว ให้เคี้ยวข้าวเหนียว แล้วพ่นลงไปพร้อมกับน้ำ ทำทีเป็นพ่นน้ำตามธรรมดาก่อนการขึ้นชก ระหว่างที่รำมวยไหว้ครู ชั่วพอข้าวแห้ง ข้าวเหนียวก็จะจับกันแข็ง นั่นก็ยังนับว่าเป็นกลโกงอยู่ดี ไม่ใคร่ทำกันในหมู่นักมวยให้เสียเชิงชาย

เป็นอันสรุปว่า หากท่านผู้อ่านที่นับถือท่านใด มีข้อมูลที่เป็นหลักฐานที่เชื่อถือได้ หรือครูอาจารย์ท่านได้สอนสั่งถึงวิธีการ และรวมถึงสามารถทำได้ ถึงวิธีการนำเอา แก้ว, เปลือกหอย , ชัน, กาว, ทราย มาใช้กับเชือกพันหมัดได้ โปรดช่วยชี้แนะ หรือโต้แย้ง เพื่อให้ความกระจ่าง ให้ความรู้แก่ประชาชนในวงกว้าง ต่อไป...

แต่....หากว่าไม่มี และจำนนต่อถ่อยคำของ ครูผู้เฒ่าทั้งสองท่าน ดังที่ได้บันทึกเอาไว้ ข้าพเจ้าใคร่ขอเรียกร้องให้ ท่านผู้มีปัญญา มีวิจารณญาณทุกท่าน โปรดได้ช่วยกันบอกสิ่งที่ถูกต้องต่อ ๆ ไป เพื่อให้ ลูกไทยหลานไทย คนรุ่นใหม่ ๆ ที่จะเข้ามาศึกษาเรียนรู้ศิลปะวิทยาโบราณไทย ได้รับรู้ในสิ่งที่ถูกต้องว่า มวยไทยมิใช่จะป่าเถื่อน โหดร้าย อย่างที่คิด มาช่วยกันต่อลมหายใจศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวของไทย ให้ยืนยาวสืบต่อไปอีกสัก ๑๐ ปี ของชีวิตท่านเถิด.

ทุ่มทับจับหักในมวยคาดเชือก


....ข่าวความพ่ายแพ้ ของนักมวยไทย ที่เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลไปชกถึงดินแดนแห่งมังกร จีนแผ่นดินใหญ่ นั้นอาจทำให้บรรดาเซียนมวยในไทยหลายๆคนถึงกับกระเป๋าฉีก ส่วนคนไทยอีกหลายหมื่นหลายแสนคนคงต้องผิดหวัง จนอดตั้งข้อสงสัยไปต่างๆนานา ไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็น ในแง่ มวยไทยไร้ศิลปะแล้วหรือ, กติกาทำให้มวยไทยเสียเปรียบหรือไม่, และที่หนักไปกว่านั้นก็คือ มีการพนันเข้ามาเกี่ยวข้องหรือเปล่า การที่ทางผู้จัดประกาศว่าจะนำเอาศิลปะมวยไทย ไปเผยแพร่ให้คนจีนได้รู้จักถึงกับจะนำไปเปิดค่ายมวยไทยสอนในจีน แต่ผลการชก ที่ผ่านมา ทีมนักมวยไทยพ่ายแพ้ อย่างน่ากังขา แล้วก็ยังไม่สามารถแก้ทางมวยถีบมวยทุ่มของปรปักษ์ได้เลย นักมวยจีนก็อาจหาญ ถึงกับไม่กลัวการเตะที่ได้ชื่อว่า รุนแรง หนักหน่วงของมวยไทยที่ทั่วโลกต่างยอมรับ โดยตรงเข้าก้มลงกอดรัด กระชากขาให้ฝ่ายไทยล้มลงไป เพื่อเรียกเก็บคะแนนได้ทุกครั้ง ความที่กีฬามวยปล้ำของชนพื้นเมือง ชาวมงโกล ได้รับความนิยม จึงทำให้นักมวยจีน มีความถนัดในการปล้ำกอดรัด กดด้วยเรียวแรง มากกว่าการต่อสู้ ชิงคมแลกอวัยวุธหมัดเท้าเข่าศอกอย่างมวยไทย

หากจะกล่าวถึงกติกา ก็คงเหมือนกติกามวยไทยทั่วไป เพียงแต่เพิ่มการทุ่มเข้ามา ( ซึ่งก็น่าจะมีการปรับปรุงกติกามวยไทย ยอมรับการทุ่มได้แล้ว เพราะกีฬาการต่อสู้ในหลายๆประเภทรอบๆบ้านเรานั้นมีการทุ่มการจับหักฝึกกันอยู่แล้ว หากมวยไทยละเลยไปก็จะเป็นการเสียเปรียบ ทั้งที่หลักการเหล่านี้มีอยู่แล้วในมวยไทยโบราณ ) แต่ก็ยังอนุญาตให้ใช้ ศอกเข่าได้ถึงจะมีเครื่องป้องกัน และการใช้จะไม่ได้คะแนนก็ตาม แต่ดูๆไปแล้วก็ไม่น่าจะเสียเปรียบกันมากนัก เพราะฝ่ายนักมวยจีน ใช้ศอกเข่าไม่ค่อยเป็น จึงเน้น ถีบเตะ ทุ่ม ฝ่ายนักมวยไทย ก็ใช้อวัยวุธได้ครบทุกอย่าง การปล้ำการทุ่มในมวยเวที ก็มีให้เห็นอยู่บ้าง ศอกเข่า ที่ใช้ แม้ไม่ได้คะแนน แต่ก็เป็นที่หวั่นเกรงของนักมวยจีน อยู่ไม่ใช่น้อย ทั้งยังเป็นไม้สั้น ค่อยสกัดการเข้าประชิดติดตัวได้ดี ควรจะใช้ในระยะที่นักมวยจีนเข้ากอดรัด ให้ปรปักษ์ถอยห่างให้อยู่ในระยะที่จะ ออกอวัยวุธยาวอย่าง ต่อย เตะ ถีบ ยัน ได้ถนัด การกอดรัดและทุ่มอย่างที่นักมวยจีนกระทำนั้น ไม่ใช่ไม่มีทางแก้.....



มีเรื่องเล่าถึงมวยคาดเชือกใน ยุคสมัย ร.๖ ณ.สนามมวยสวนกุหลาบ พ.ศ.๒๔๖๓-๒๔๖๕ มีการจัดตีมวยเพื่อหาเงินซื้อปืน เข้าสนับสนุนกิจการของ กองเสือป่า โดยมี พระยานนทิเสนสุรินทรภัคดี (แม็ก เศียรเสวี)แม่กองเสือป่า เป็นผู้จัดการแข่งขันขึ้น ที่บริเวนสนามฟุตบอลโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย โดยให้สมุหเทศาภิบาลและข้าหลวงทั่วประเทศ จัดหา นักมวยคาดเชือกที่มีฝีมือดี จากหัวเมืองต่างๆ ส่งเข้ามาในพระนคร มวยคู่หนึ่งที่เป็นมวยประวัติศาสตร์ ก็คือ คู่ของ นายยัง หาญทะเล กับ จี๊ฉ่าง (จีนฉ่าง) ซึ่งเป็นมวยไทยชกมวยกังฟู ที่ถือว่าเป็นคู่แรกในไทยที่ได้รับการกล่าวถึงมากในยุคนั้น

นายยัง หาญทะเล เป็นนักมวยโคราช (เมืองมวย)เข้าพระนครโดยพักอยู่ที่ วังเปรมประชากร ในอุปการะของ เสด็จในกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ศิษย์เอกของ หลวงพ่อสุก (พระครูวิมลคุณากร) แห่งวัดมะขามเฒ่า ส่วนทางฝ่าย จี๊ฉ่าง เป็นนักมวยสั่งตรงจากเกาะฮ่องกง ในการสนับสนุนของ สโมสรสามัคคีจีนสยาม โดย นายเค็งเหลียน สีบุญเรือง และนายฮุน กิมฮวด จัดส่งเข้าชก (บ้างก็ว่า จี๊ฉ่าง เป็นชาวกวางตุ้ง มาเป็นอาจารย์ใหญ่สอนมวยจีน ย่านสำเพ็ง ) การชกในครั้งนั้น ฝ่ายจี๊ฉ่าง ซึ่งถือว่ามี มือที่แข็งแกร่งทรงพลัง ถนัดจับหักกระดูกหรือแทงด้วยนิ้ว เรียกกันว่า เลียะพะ สามารถแทงไม้หนา๒นิ้วให้ทะลุได้ เมื่อนักมวยไทยไหว้ครูเสร็จ จี๊ฉ่างจึงไม่รั้งรอที่จะรุก ทะลวงเข้าชกต่อย คว้าจับเอาด้วยกำลังก่อน ฝ่ายนายยัง หาญทะเลได้แต่ถอยเอาเชิง พลิกเหลี่ยมซ้ายขวาหลบ พร้อมกับใช้ไม้กล "หนุมานควานสมุทร" ซึ่งเข้าใจว่า บรมครูเสด็จในกรมฯ ท่านได้ฝึกสอนมาเป็นพิเศษ แทนท่าครูที่มวยโคราชนิยมใช้กัน โดยใช้ท่อนแขนไขว้ แกว่งสลับไปมาระหว่างอก ป้องกันกระโจนจับหรือแทงด้วยนิ้วของปรปักษ์ จี๊ฉ่างตามติด ด้วยกำปั้นบ้าง กงเล็บบ้าง นายยังได้แต่ กระหยดถอย และ สลับเหลี่ยมหลอก เบี่ยงตัวซ้ายขวา ตีตอบด้วยหมัดเหวี่ยงควายบ้างเตะฉากตัวออกบ้าง ตามกลมวย หนีเอาชัย เมื่อเขาแรง เราอ่อน ( มิใช่จะเข้าแลกให้ถูกชกโดยไม่จำเป็น ) ทันใดนั้นเอง จี๊ฉ่างก็ปล่อยกำปั้น หมายตรงเข้าที่ ลานหัว(กระหม่อม) ของนายยัง ไม่มีใครคาด นายยัง ย่อตัวลงต่ำ หลบกำปั้น แล้วกลับกระโจนขึ้น อัด เข่าโทน(เข่าตรง) เข้ากลางอกมังกรจีน จนหงายหลัง ก้นกระแทกพื้นเวที ยังไม่ทันที่นายยังจะง้างแข้งตาม กรรมการก็เข้านับ และเสียงกลองก็ดัง หมดยกเสียก่อน


เริ่มยกสอง นายยังย่ามใจบุกเข้าหลอกขวา แล้วพลิกเหลี่ยมเตะซ้ายเข้าชายโครง ตามด้วยหมัดตรงซ้ายขวา โดนเข้าร่างจี๊ฉ่างทั้งทียังเอนเอียงอยู่ แต่ด้วยกำลังภายในหรืออย่างไรไม่ทราบ มังกรจี๊ฉ่าง ปิดป้องพร้อมกับเสือกหมัดหงายเข้าใส่หน้านายยัง ทั้งๆที่ปิดอยู่แต่นายยังก็ถึงกับกระเด็นไปพิงเชือกและตามด้วยพายุกำปั้นทั้งสับทั้งทุบโดยไม่ให้ตั้งตัว นายยังได้แต่พลิกตัวล้มลุกคลุกคลานหลบ จนตกเวทีแต่ด้วยความคล่องตัวนายยังรีบปีนเชือกขึ้นมายืนสามขุมบนเวทีได้ก็กระโจนเข้าหาคู่ต่อสู้ จี๊ฉ่างที่รอท่าอยู่แล้วจึงปล่อยหมัดเสยออกเต็มแรงจีน ถูกนายยังถึงกับเข่าทรุด แต่ก็แก้สถานการณ์ได้ด้วยการเหวี่ยงแข้งซ้ายขวาทั้งบนล่างตัดขาตัดลำตัว จนจี๊ฉ่างถึงกับถอย เมื่อได้จังหวะนายยังก็เหวี่ยงควายเข้าขากรรไกรจนปรปักษ์หัวทิ่มปักเวที แม้จะมีธาตุทรหดและเก่งกาจแต่จี๊ฉ่างก็ถูกนายยังชกล้มลงไปอีกสองครั้งก่อนจะหมดยกสอง

ครั้นยกที่สาม นายยังพยายามเข้า ตีวงใน ทั้งคู่ผลัดกันรุกรับติดพัน จนเมื่อแยกจึงได้เห็นว่าที่หัวของจี๊ฉ่างมีเลือดไหลออกมา นายยังย่างสามขุมเข้าหา ทำทีง้างหมัดขวา พอจี๊ฉ่างหลงกลปัด จึงถูกแข้งขวาของนายยังเหวี่ยงลำตัว จนใกล้หมดยก มังกรจีนก็อาบได้ด้วยเลือดจากหัวถึงหน้าอก นายยังกำลังห้าวเหมือนไฟได้ฟืน ผลักปรปักษ์ออกในระยะแล้วพลิกแข้งเต็มแรงเข้าใต้รักแร้ด้านหัวใจ จี๊ฉ่างถึงสะดุ้งรีบคว้าขานายยังได้ดึงเข้าหาตัว หมายจะควักหักกระดูกไหปลาร้า ด้วยไม้ตายฝ่ายจีน นายยังรีกกระชากขากลับสุดแรง ทำให้ฝ่ายตรงข้ามคะมำหน้าตาม คู้กอดเข่านายยังไว้ โดยไม่รอช้า นายยังระดม หมัดเหวี่ยงควาย เข้าที่กกหูจี๊ฉ่างอย่างจักรผัน จนหูซ้ายของจี๊ฉ่างมีเลือดซึมไหลออกมา ผู้ตัดสินเข้าแยก จี๊ฉ่าง แม้จะยืนด้วยอาการอ่อนระโหยโรยแรง แต่กลับพุ่งหมัดเข้าฉกรวดเร็ว นายยังฉากหลบ ในจังหวะพริบตาที่มังกรไฟ เบือนหน้าบ้วนเลือด หมัดขวาของนายยังซึ่งง้างมาแต่ข้างหลังก็หวืดเข้าที่โหนกแก้มจนจี๊ฉ่างผงะถลาล้ม เป็นช่วงที่นายยังพลิกเหลี่ยมมวยตวัดตีนซ้ายหวดเข้าเต็มหน้า จนจี๊ฉ่างจอมทรหด กางมือกลิ้งลงพื้น กรรมการโดดเข้านับถึง๑๐ จี๊ฉ่างพยายามลุกขึ้น เลือดเต็มหน้าแล้วกลับเอียงซ้ายพับลงพื้นเวทีอีกครั้ง มังกรแดงแห่งฮ่องกง ต้องพ่ายแพ้แก่ ยัง หาญทะเล เสือร้ายจากที่ราบสูง ยังไม่ทันครบ๑๑ยก นั่นเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงเมื่อ ๘๑ ปีมาแล้ว แต่หากมองในแง่ พาหุยุทธศิลป์วิทยาการ แล้วจะเห็นว่า ในการชกมวยคู่สุดยอดนี้ จะมีทั้งชั้นเชิง ลีลา กลรับรุก กลแก้ทางมวย ที่ถูกใช้ออกมาด้วยร่างกายและสติปัญญาบวกกับศิลปะการต่อสู้อันช่ำชอง ( คัดดัดแปลงจาก " ปริทัศน์มวยไทย " โดย ปรมาจารย์ เขตร์ ศรียาภัย )



ทุ่ม ทับ จับ หัก ในมวยคาดเชือกนั้นเป็นกลมวยชั้นสูง ที่ผู้ฝึกจะต้องเรียนรู้พื้นฐาน การบริหารร่างกายเพื่อพาหุยุทธ พร้อมฝึกฝน ท่าย่างสามขุมตามแบบของแต่ละครู เรียก " ท่าครู " รวมทั้ง แม่ไม้ ่ต่างๆเช่น การออกอาวุธ ป้องปัดปิดเปิด ป้องกัน ตอบโต้ ให้เชี่ยวชาญดีแล้ว จึงจะสามารถแตก แม่ไม้กล ลูกไม้ กลรับ กลรุก ล่อหลอก หลบหลีก ทั้งยังต้องฝึกซ้ำแล้วซ้ำอีกเพื่อให้ใช้ออกไปจึงจะเกิดความคม เด็ดขาด รุนแรง ท่วงท่าลีลางดงาม เข้มแข็ง ดังใจ

เช่น ท่าครูมวยไชยา (ท่าย่างสามขุมคุมแดนยักษ์) นั้นได้ชื่อว่ามีความรัดกุม เฉียบคม จนสามารถชนะการแข่งขันหน้าพระที่นั่ง สมัย ร.๕ เมื่อคราวจัดให้มีงาน ณ.ทุ่งพระเมรุ ป้อมเผด็จดัสกร กรุงเทพฯ คือ นายปล่อง จำนงทอง ที่สามารถใช้ " ท่าเสือลากหาง " โจนเข้าทุ่มทับจับหักปรปักษ์ จนมีชัย ได้รับการแต่ตั้งให้เป็น " หมื่นมวยมีชื่อ " ท่าที่ใช้จับทุ่มรับการจู่โจมด้วย เตะ ถีบ เข่า อย่าง " ถอนยวง " นั้นสามารถทุ่มโยนปรปักษ์ออกไป หรือ จับกดหัวให้ปักพื้นแล้วทับด้วยก้นหรือเข่าได้ หากเป็นการรุกด้วย หมัด นั้นให้แก้ด้วย " ขุนยักษ์พานาง " หรือ " ขุนยักษ์จับลิง " ศอก แก้ด้วย " พระรามหักศร " และยังมีท่าอื่นๆอีกมากที่ครูบาอาจารย์แต่โบราณท่านมิได้กำหนดชื่อเอาไว้ ทั้งหมดนี้ผู้ใช้จำต้องรู้เคล็ด ป้องปัดปิดเปิด และ กลประกบประกับจับรั้ง เป็่นท่าร่วมเพื่อเข้าจับหักด้วยมือหรือ เกี้ยวกวัดด้วยท่อนแขน ฯลฯ

หลักการทุ่มทับจับหักแต่โบราณมีอยู่และใช้ได้จริง หากแต่จะขอกล่าวโดยสังเขป เพื่อยืนยันถึง ภูมิปัญญาของบรรพบุรุษไทย ที่สร้างสรรค์ศิลปะการต่อสู้ เพื่อปกป้องบ้านเมืองในยามศึกสงคราม หากว่าอนุชนรุ่นหลังจะใส่ใจ หันกลับมา ส่งเสริม ศึกษาวิทยาการโบราณเอาไว้บ้างละก็ นักมวยไทยก็คงจะยืนชูมืออย่างภาคภูมิใจบนสังเวียนผืนผ้า ไม่ถูกรัดถูกทุ่มจนเกือบตกเวที อีกเป็นแน่ และเหล่าเทนเนอร์ก็คงไม่ถึงกับต้องระดมสมองกันคิดแก้ท่าถีบของนักมวยจีน โดยละเลยที่จะถามครูผู้เฒ่าที่นั่งเฝ้าทอดถอนใจอยู่ข้างหลังปล่อยให้ภูมิความรู้ความสามารถที่ท่านได้สั่งสมมาจากประสบการณ์ จากครูเก่า รุ่นต่อรุ่น กลับต้องสูญค่าไป ในสายตาคนรุ่นใหม่

ชัยชนะของ ครูยัง หาญทะเล กับคุณค่าแห่งศาตร์และศิลป์ในมวยหมัดพันด้ายดิบ คงจะเป็นดังหนึ่ง ภาพลายไทยลอกหลุดในโบสถ์เก่า รอวันที่จะลบเลือนหาย หรือได้รับการบูรณะซ่อมแซม ให้กลับมาอวดความงดงาม พร้อมทรงคุณค่า เพื่ออนุชนรุ่นต่อไปจักได้ภาคภูมิใจ ในความเป็น "ไท" แห่ง "สยามประเทศ" อีกครั้ง.