MuayChiya - ArwuutThai

...................................................................................
มวยไชยา - อาวุธไทย อีกลมหายใจ "ไท" ที่ยังคงอยู่
...................................................................................
m u a y c h a i y a - a r t . b l o g s p o t . c o m
...................................................................................

วันศุกร์ที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2550

ครูทอง...ที่ผมรู้จัก ๑.

...ปี ๒๕๒๕ ในช่วงภาคเรียนที่ ๒ เป็นครั้งแรกที่ผมได้เห็นได้รู้จักกับ มวยคาดเชือก สายมวยไชยา ซึ่งมี ครูทอง เป็นครูผู้เผยแพร่วิชา ท่านมาร่วมงานประจำปีที่จัดขึ้นโดย ชมรมต่อสู้ป้องกันตัว มหาวิทยาลัยรามคำแหงปีนั้น ตามคำเชิญของรุ่นพี่ที่ชมรมฯ ท่านได้นำศิษย์สองคนคือ บังรุณ กับ บังฮา มาทำการสาธิตมวยคาดเชือกที่ลานพ่อขุน ฯ และในตอนท้าย ครูทอง เองยังได้ทำการสาธิตการป้องกันตัวมือเปล่ากับผู้เข้าชมอีกด้วย ซึ่งก่อนหน้านั้น พวกเรานักศึกษาชมรมการต่อสู้ฯ แผนก อาวุธไทย รามฯ ก็ได้รับรู้กิตติศักดิ์ของท่าน ผ่านคำชมของรุ่นพี่ ๆ หลายคนที่ได้ไปเรียนวิชามวยโบราณที่บ้านของ ครูทอง ที่คลองทับช้าง มาแล้ว เมื่อได้มาเห็นเองกับตาจึงเท่ากับเป็นการเปิดโลกทัศน์ใหม่ เกี่ยวกับวิชาป้องกันตัวแบบไทย ๆ ที่ยังคงความเป็นศิลปะอยู่ในทุกท่าไม้มวย ที่ครูทองท่านได้แสดงออกมาให้ชม มีชายคนหนึ่งเข้ามาถามท่านว่า


“ ถ้าผมเตะ ๓ ชั้น แบบเร็ว ๆ ละครับ ครูจะรับยังไง ”

ครูทอง ตอบว่า “ เป็นยังไง ครูไม่เข้าใจ ”

ชายคนนั้นก็พยายามอธิบายว่าจะเตะครูซ้อน ๆ กันหลาย ๆ ที ครูทองคล้ายจะไม่เข้าใจว่าเตะยังไง ผมนึกไปถึงท่าเตะแบบพระเอกในหนังจีนที่ได้ดู ๆ มา คือ เตะจากล่างขึ้นบน คิดว่าเขาต้องเตะครูแบบนี้แน่ ๆ ครูทอง ได้พูดตัดบทว่า

“ เอายังงี้ เธอเตะครูมาเลย แล้วกัน เอ้า ”

จากนั้นครูทองก็ถอยออกมาให้ได้ระยะเตะ ชายคนนั้นไม่ได้ตั้งท่าอะไร เขาหวดเท้าขวาเต็มแรงเข้าที่ข้อพับขาซ้ายของครูทอง แบบเตะเจาะยาง .... รวดเร็วพอ ๆ กัน ครูทองย่อตัวเล็กน้อยใช้เข่าซ้ายข้างที่ถูกเตะ เอียงทำมุมรับกระแทกเข้าที่หน้าแข้งชายคนนั้น ผลก็คือ เขาชักขากลับแล้วนั่งลงกุมหน้าแข้งด้วยความเจ็บอยู่พักหนึ่ง จึงลุกขึ้น ครูทอง ถามเขาว่า...

“ ถ้าสอบ ป. ๑ ไม่ผ่าน จะขึ้น ป.๒ ได้หรือเปล่า ”

ทำพูดของครูเพียงเท่านี้ แต่กลับอธิบายความได้ชัดเจน รวบรัด ถึงสภาวะรุกรับและหลักการสกัดในวิชามวยคาดเชือกสายไชยา…

(ที่เข้าใจว่าท่านไม่เข้าใจ ความจริงแล้วท่านทราบอยู่ก่อนแล้วว่าเป็นไปไม่ได้ ท่านจึงแสดงอาการสงสัยว่าจะทำได้ยังไง ต่างหาก ! )

...หลังจากนั้นพวกเราก็ต้องเจ็บตัวกันคนละนิด คนละหน่อย คนไหนสงสัยมาก ก็เจ็บบ่อยหน่อย คนที่ไม่สงสัยก็ยืนรับความรู้ พร้อม ๆ กับดูเพื่อนเจ็บเป็นที่เพลิดเพลิน ได้ทั้งวิชาความรู้ ได้ทั้งประสบการณ์ตรง จากครูทองกันถ้วนหน้า แล้วพวกผมก็เริ่มไปที่บ้านครูทองกันบ่อย ๆ ขึ้น เพื่อฝึกเรียนวิชามวยไชยากับครู


การไปบ้านครูเมื่อปีนั้น (๒๕๒๕) ไม่ง่ายเลยครับ ขึ้นรถสาย ๙๓ จากหน้ารามฯ ไปสุดสายที่หมู่บ้านนักกีฬา (ในยุคนั้นนับว่าไกลมาก ๆ ) ลงเดินตัดทุ่ง ทางยังเป็นดินแดง ๆ อยู่เลย ระยะทางสักเกือบกิโล ไปสุดถนนฝุ่นที่ คลองทับช้าง แล้วจึงตะโกนเรียกครู หรือคนผ่านมาทางนั้นให้บอกครูเอาเรือเล็กมารับ เป็นอย่างนี้อยู่สักเดือน พี่ขลุ่ยจะเป็นคนแรกที่ว่ายน้ำไปที่บ้านครู เอาเรือเล็กพายมารับพวกน้อง ๆ หลังจากนั้นมา เมื่อไปถึงท่าน้ำบ้านครู ก็จะต้องมีใครสักคนหนึ่งทั้งถูกเลือก หรือถูกกำหนดให้ไปเอาเรือ

(คลองทับช้างในปีนั้น ทั้งกว้างและสะอาด ปีน้ำมามากพวกเราก็ลงเล่นน้ำหลังจากฝึกเสร็จกันเป็นที่สนุกสนาน )

บ้านครูเป็นบ้านไม้ริมคลอง ครูเคยเล่าให้ฟังว่า ช่วงนั้นครูไม่สบายมาก ทั้งยังเป็นอัมพฤตเพิ่งจะหาย คุณหมอบอกให้ครูพักผ่อน และอยู่ในที่ที่มีอากาศบริสุทธิ์ถ่ายเท ครูกับภรรยาจึงมาปักหลักอาศัยอยู่ที่นี้ โดยช่วยกันสร้างบ้านหลังเล็ก ๆ นี้ขึ้นเองบนที่ดินของญาติ ด้านหน้าบ้านจะมีลานดินผืนหนึ่งเล็ก ๆ ครูจะปักเสาไว้แขวนกระสอบทรายใบเก่าอยู่ลูกหนึ่ง พวกเราไม่เคยได้รับอนุญาตให้เตะต่อยกระสอบใบนี้เลย ครูจะให้พวกเราฝึกท่าบริหารเพื่อพาหุยุทธ์เป็นหลัก ครูพูดไว้ว่า

“ พวกเธอเรียนวิชากระบี่กระบองมา ขาแข้งแข็งแรง ทั้งยังพอเข้าใจในหลักย่างสามขุม ครูจะให้พวกเธอเรียนแบบโบราณอย่างที่ครูได้เรียนมา เอาไหม ”

“ แล้ว ถ้าครูยังไม่อนุญาตห้ามเตะต่อยกระสอบทราย เด็ดขาด



เมื่อพวกผมถามว่าทำไมครับ เพราะตามความเข้าใจแล้วการฝึกหัดมวย ก็ต้องเตะต่อยกระสอบทรายเป็นหลัก อย่างที่เห็น ๆ อยู่ดาษตา ครูทอง จึงสอนว่า

“ การฝึกท่าพื้นฐาน และท่าย่างสามขุม นั้นจะทำให้พวกเธอดี ไปเตะต่อยกระสอบอย่างเดียวก็ได้แต่แรง ไม่ได้จัดตัวจัดท่า ทำอย่างนั้นไม่พอหรอก ”

ครูทองยกเอาคำพูดของครูของท่าน จำไม่ได้ว่าเป็น อาจารย์กิมเส็ง หรือปรมาจารย์เขตร์ ท่านเคยพูดไว้ว่า

“ วัวมันขวิดคันนา ก็เพราะคันนาไม่สู้วัว ”

...เปรียบเปรยให้พวกเรารู้ว่า การชกต่อยกระสอบทรายนั้น ได้แรงกำลัง ความแข็งแกร่งดีอยู่หรอก แต่หากไม่ได้ฝึกพื้นฐานร่างกาย ฝึกท่าเท้าซึ่งมีอยู่มากมายแล้ว จะทำให้ก้าวหน้าช้า ได้ประโยชน์ก็คือได้สุขภาพแข็งแรงเพียงด้านเดียว นับแต่วันนั้นคณะของพวกเราจึงเป็นขาประจำ เรือนไม้หลังเล็ก ๆ ที่ตั้งอยู่ค่อนไปทางท้ายคลองทับช้างเสมอมา.

(* ปัจจุบัน บ้านครูอยู่ติดกับทางด่วนมอเตอร์เวย สายทางออกจากพระราม ๙ – ชลบุรี ไปมาสะดวกสบาย ไม่ต้องพายเรืออีกแล้วเพราะมีสะพานปูนทอดข้ามคลอง ทั้งยังมีถนนปูนพาดผ่านตลอดแนวลำคลองอีกด้วย)



ภาพประกอบ ได้รับความเอื้อเฟื้อจาก น้องหญิง


.....................................................................................

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น