MuayChiya - ArwuutThai

...................................................................................
มวยไชยา - อาวุธไทย อีกลมหายใจ "ไท" ที่ยังคงอยู่
...................................................................................
m u a y c h a i y a - a r t . b l o g s p o t . c o m
...................................................................................

วันเสาร์ที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2550

พาหุยุทธ์ ฯ - อาวุธไทย ฯ

พาหุยุทธ์ มวยไชยา และ อาวุธไทย พิชัยยุทธ์

คำปรารภ

...เมื่อผู้เขียนได้รับการทาบทามให้เขียนบทความเกี่ยวกับเรื่อง มวยไทยโบราณและมวยคาดเชือกไชยา ผู้เขียนรู้สึกว่าเป็นเรื่องใหญ่ที่จะเขียนถึงวิชาที่สูญไปจากวงการนับร้อยปี ทำให้ต้องไตร่ตรองอยู่หลายวัน ด้วยเหตุหลาย ๆ ประการ แต่เมื่อได้ทบทวนดูแล้ว ถ้าผู้เขียนจะเก็บเอาความรู้ที่ครูบาอาจารย์ได้พร่ำอบรมสั่งสอนอย่างอดทน เพื่อจะนำพาไปสัมปรายภพด้วยอย่างไร้ความหมาย ย่อมอกตัญญูต่อครูบาอาจารย์และชาติอย่างไม่น่าให้อภัย จึงปลงตก ถือเสียว่าเป็นการทำเพื่อถวายพระคุณของครู และสนองคุณแผ่นดินก่อนตาย

ข้อเขียนทั้งหลายและต่อ ๆ ไปในภายภาคหน้า (หากมีผู้สนใจติดตาม) ขอให้ทราบไว้ด้วยว่าผู้เขียนได้เขียนตามที่ผู้เขียนได้ศึกษาเล่าเรียนมาจากครูบาอาจารย์ ซึ่งอาจผิดแผกไปจากของคณาจารย์ของสำนักอื่น ๆ ก็อาจเป็นได้ และบางช่วงบางตอนอาจเป็นคำกล่าวคำพูดของครู ของอาจารย์ปู่ และบาจรีย์ทุกท่าน ที่ได้เคยเขียนเคยพูดและเคยฝากผลงานไว้เป็นเลิศแล้วเมื่ออดีตกาล อันเป็นการเชิดชูผลงานของท่าน มิได้อวดรู้ อวดภูมิ ตีตนเสมอครูบาอาจารย์ แต่อย่างใด เพราะความรู้ผู้เขียน เปรียบเหมือนแสงหิ่งห้อยที่ไม่อาจหาญเปรียบแสงสุริยะฉาย

ลูกหลานโปรดจำไว้

“เป็นครูท่าเดียว วันเดียว เดือนเดียว ปีเดียว...ถือเป็นครูตลอดชีวิต จงกตัญญูและตอบแทนดูแลท่านตามควร "

....................................................

ปฐมบท

...สิ่งมีชีวิตทุกสิ่งเกิดมาย่อมต้องต่อสู้ดิ้นรนเพื่อการมีชีวิตอยู่รอด ไม่ว่าจะเป็นพืชหรือสัตว์ โดยเฉพาะสัตว์ประเสริฐที่เรียกตัวเองว่า มนุษย์ ต่างต้องต่อสู้ดิ้นรนเพื่อชีวิตอยู่รอดนับแต่ยังไม่ปฏิสนธิเสียอีก สัตว์โลกย่อมมีวิธีการต่อสู้เฉพาะที่ร้ายกาจเหมาะกับตัวมันเอง เพื่อเอาตัวรอด เพื่อหาอาหาร สัตว์เดรัจฉานแสดงอาการต่อสู้โดยสัญชาติญาณ ส่วนเวไนยสัตว์ (สัตว์ที่สอนได้) หรือมนุษย์ซึ่งเป็นสัตว์ประเสริฐ นับเป็นผู้ที่มีสมองและสติปัญญาสามารถที่พัฒนาได้อย่างไม่สิ้นสุด ย่อมมีการวิวัฒนาการและพัฒนาการการต่อสู้ที่มีสมรรถภาพอย่างไม่หยุดยั้ง

หากเรามีความเชื่อในทฤษฎีที่ว่ามนุษย์มีวิวัฒนาการมาจากวานร ตามประวัติมนุษยชาติ มนุษย์ย่อมมีการต่อสู้กันนับตั้งแต่เริ่มไต่ลงมาจากต้นไม้ เมื่อประมาณ ๑,๐๐๐,๐๐๐ กว่าปีมาแล้ว อีกทั้งสัญชาติญาณดิบนับแต่เป็นวานรย่อมยังคงหลงเหลือติดอยู่ในสายเลือดอยู่บ้างไม่มากก็น้อย มนุษย์สมัยดึกดำบรรพ์จึงต่อสู้กันไม่ต่างไปจากสัตว์เดรัจฉานมากนัก คือสู้กันตามสัญญาณชาติดิบ ๆ ที่มีมาตามธรรมชาติ โดยใช้อวัยวุธ (อวัยวะของร่างกายที่ใช้เป็นอาวุธในการต่อสู้) ในร่างกายทุกอย่างที่ธรรมชาติประทานมา ทำร้ายซึ่งกันและกัน “ปากกัด ตีนถีบ มือฉุด ข่วน ตะปบ แขนฟาด หมัดต่อย ทุบ ศอกถอง เข่ากระทุ้ง ก้นกระแทก แบกบ่า ทุ่มทับ จับหัก ควักนัยน์ตา ฯลฯ” หยิบฉวยได้สิ่งใดใกล้มือที่ใช้ทำร้ายคู่ต่อสู้ได้ ก็ใช้สิ่งนั้น เช่นกระดูกสัตว์ กิ่งไม้ ก้อนหิน กระบอง ลูกดอก หน้าไม้ กระสุน ซึ่งชนะก็แย่แพ้ก็เกือบตาย อันเป็นการใช้พละกำลังเข้าหักหาญกันโดยแท้ (ยังขาดศาสตร์และศิลป์เพราะยังไม่พัฒนา) มีอยู่อย่างเดียวก็คือเพื่อเอาตัวรอดเท่านั้น มนุษย์ในสมัยโบราณจึงต่อสู้เพื่อเหตุใหญ่ ๆ ๒ ประการคือ

๑. แย่งอาหาร และแดนหากิน
๒. เกิดการหึงหวงมนุษย์ที่ออกลูกได้

...การต่อสู้ในสมัยดึกดำบรรพ์ ขณะที่มนุษย์อยู่ถ้ำ อยู่โพรงไม้ มักเป็นการต่อสู้อย่างโดดเดี่ยว หรือเป็นเฉพาะครอบครัวเล็ก ๆ เพียงครอบครัวเดียวเท่านั้น แต่โดยแท้แล้วมนุษย์เป็นสัตว์ที่เกิดมาอย่างมีสัญชาติญาณแห่งความขลาดกลัว และสัญญาแห่งการอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มสังคม มนุษย์เป็นสัตว์ที่มีความฉลาด มีปัญญา ความเจ็บปวด ความตาย ความสูญเสีย ความเสียใจ ความโศกเศร้า ทำให้มนุษย์ เกิดความคิดรู้จักคบค้าสามัคคีไปมาหาสู่กัน และรีรอกัน อันนับเป็นปฐมการณ์อย่างหนึ่งที่ทำให้มนุษย์รวมกันเป็นกลุ่มก้อน เป็นชุมชน จากกลุ่มเล็ก ๆ เป็นกลุ่มใหญ่ จนเป็นรัฐและเป็นประเทศชาติขึ้น การตัดสินปัญหาข้อพิพาทและการต่อสู้กันด้วยกำลังของมนุษย์จึงเริ่มเปลี่ยนไปเป็นถ้อยทีถ้อยอาศัยอนุโลม ปฏิโลมต่อกัน

ดูเหมือนจะเป็นการดีเมื่อมนุษย์สามารถรวมกันเป็นพวกได้ กรณีพิพาทกันเองดูน้อยลง และแก้ไขได้ตามกฎระเบียบของกลุ่มชนที่มีการตกลงร่วมกัน ความระแวงระวังแบบสัญชาติญาณป่าน้อยลง รู้สึกอบอุ่นขึ้น แต่การรวมกลุ่มของมนุษย์มิได้มีกลุ่มเดียว มิใช่มีเพียงชนเผ่าเดียว ความเห็นความคิดของแต่ละกลุ่มไม่เหมือนกัน ภาษาต่างกัน อุดมคติ อารมณ์ต่างกัน ความเชื่อต่างกัน มนุษย์ยิ่งเจริญขึ้นมนุษย์ยิ่งมีการขัดแย้งต่อสู้กันรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จากเดิมพิพาทกันเพื่อแย่งชิงอาหารแดนทำกิน แย่งมนุษย์ที่ออกลูกได้ ยังต่อสู้กันเพราะขอช้างเผือกไม่ได้ดังใจ ขอคืนหญิงงามไม่สำเร็จ มีหลายสาเหตุที่อาจพิพาทกันได้ทุกเมื่อ การต่อสู้อย่างโดดเดี่ยว กลายเป็นมหาสงครามระหว่างประเทศ

กำเนิดของพาหุยุทธ์มวยไทยโบราณ


...ตามประวัติศาสตร์ก่อนสมัยกรุงสุโขทัย ชนชาติไทย ถูกสันนิษฐานว่ามีอายุไร่เรี่ยกับความเจริญของชาวอียิปต์ บาบิโลเนีย และอัสสิเรีย ไทยเป็นชาติที่มีความเจริญมาก่อนจีน และก่อนชาวยุโรป มีการปกครองและมีระเบียบแบบแผนเป็นปึกแผ่น อยู่ ณ ดินแดนซึ่งเป็นประเทศจีนในปัจจุบันนี้ ชนชาติไทยเป็นชนชาติที่น่าสงสาร ก่อนพุทธศักราช ถูกรุกรบ จนต้องถอยร่น จากแดนทำกินอันอุดมสมบูรณ์ของ ๒ ฟาก ลุ่มแม่น้ำฮวงโห และยั่งจือ เรียกว่า อาณาจักรอ้ายลาว หรือ ไทยมุง หรือ ไทยเมือง ซึ่งเป็น มณฑลเสฉวน ฮูเป อันฮุย และเกียงซี ไทยต้องอพยพหลบหลีกความเป็นทาสมาทางตอนใต้เรื่อยมา โดยถือหลักไปตายเอาดาบหน้า ดีกว่าเป็นขี้ข้าของชาติอื่น

ด้วยสันดานเป็นไทย และนิสัยเป็นนักรบมาหลายชั่วอายุคน ด้วยรักสันติ รักอิสระไม่ยอมเป็นทาสใคร ต้องต่อสู้เพื่อเอาชีวิตรอด เพื่อมาตุภูมิ เพื่อคนที่ตนรัก นับครั้งไม่ถ้วน เพื่อเป็นการไม่ประมาท บรรดาพฤธ์หรือพ่อเฒ่า ตามปัจจันท์ชนบท (ชายเขตแดนติดต่อแดนต่างประเทศ) ได้พยายามสร้างสมบรรดาชายหนุ่มของหมู่บ้านด้วยอุปเท่ห์ การเล่น “ออกแรง” เช่นการปล้ำ วิ่งวัว พายเรือแข่ง เสือข้ามห้วย จงอางหวงไข่ และไม้ลอย (การห้อยโหนตีลังกาในที่สูง) และเพื่อการป้องกันตัว พ่อเฒ่าทั้งหลายได้เพียรพยายามรวบรวมคิดค้นวิธีต่อสู้ติดต่อกันตลอดหลายชั่วคน จากบรรพบุรุษที่ผ่านการรบมานานนับพันปี จนสามารถกำหนดเป็นหลักเกณฑ์เฉพาะคนไทยด้วยเชิง “ชิงคม” และ “พันลำ” อันก่อให้เกิดความครั่นคร้ามแก่ศัตรูผู้รุกรานทั่วไป


อาจารย์เขตร์ ศรียาภัย (อาจารย์ปู่ของผู้เขียน) กล่าวไว้ว่า
" มวย หมายถึง การชกต่อยตามแต่ครูจะสอน หรือการต่อสู้เพื่อเอาตัวรอด”

มวยไทย หมายถึง... “ศิลปะศาสตร์ซึ่งบรรพบุรุษได้เพียรพยายามสืบทอดและพัฒนายกระดับวิธีต่อสู้ป้องกันตัวมอบให้เป็นมรดกแก่ลูกไทยนับเป็นพันปีมาแล้ว มวยไทยขนานแท้นั้นไม่มีชนชาติใดสามารถแสดงได้ดีเท่าคนไทย แต่ปัจจุบันนี้มวยไทยถูกดัดแปลงจนสิ้น หนักไปทางใช้พละกำลัง ขาดศิลปะ และประเพณีนิยม”
(ปรมาจารย์ เขตร์ ศรียาภัย)


“ครูแปรง”
มูลนิธิมวยไทยไชยา


นิตยสาร siam combat
เล่ม ๒ ธันวาคม ๒๐๐๓